วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หากหวังความก้าวหน้าต้องกล้าพูดต่อหน้ากลุ่มคน

ความหวาดกลัวที่สยดสยอง ในการพูดต่อที่ชุมชน หรือกลุ่มคนมากๆ นั้น มีอานุภาพเพียงใดบรรดาท่านทั้งหลายคงจะรู้ดี และการพูดในที่ชุมชนนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการประสบความสำเร็จ หรือเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเสียด้วย สำหรับผมถือว่าเป็น "เครื่องมือหลักที่สำคัญที่สุด" ในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อันนี้ผมไม่ใช่เราพูดแบบเกาะตำราการพูดนะครับ แต่สังเคราะห์จากประสบการณ์จริงๆ ในฐานะที่เคยทำงานมาเกิน ๓๐ ปี และผ่านบริษัทต่างๆ ในฐานะลูกจ้างตั้งแต่ระดับคนงานจนถึงผู้อำนวยการ รวมทั้งการรับงานเป็นโครงการๆ (จ๊อบ) และฐานะที่ปรึกษาเกิน ๕๐ บริษัท จึงกล้าสรุปแบบตั้งธงเลยว่า การพูดนั้นคือตัวกำหนดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตัวจริง

ผมขอยืนยันตามข้างต้นอีกครั้งหนึ่งครับว่า "การพูดในที่ชุมนุมเป็นตัวกำหนดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน" ต่อให้เราเรียบจบสูงๆ มีสมองปราดเปรื่องชนิดคมกริบ มีความสามารถในการการทำงานชนิดเชี่ยวชาญเพียงใด หากเราไม่สามารถนำงานออกเสนออย่างมีประสิทธิภาพต่อที่ประชุม ที่เต็มไปด้วยผู้บริหาร หรือกลุ่มคนที่มีความสามารถ หรือกลุ่มคนมากๆ หรือกลุ่มคนที่ชอบลองของก่อกวนแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เรารู้อยู่คนเดียวส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์ เราก็ไม่ได้ผลงาน สิ่งที่ผมเห็นบ่อยๆ เช่น

- ผู้บริหาร หรือหัวหน้างานบางคน พอถึงวันประชุมที่ถึงคราวตัวเองจะต้องนำเสนองาน หรือขึ้นกล่าวในวาระสำคัญๆ พอถึงเวลาก็เบี้ยวกระทันหัน อ้างเหตุผลป่วยบ้าง อ้างเหตุสุดวิสัยบ้างต่างๆ นาๆ เป็นผลให้งานส่วนรวมเสียหาย ผมถือว่าเสียหายร้ายแรงครับเพราะมันทำให้ที่ประชุมล่มงานเดินต่อไม่ได้ อาจสูญเสียลูกค้าหรือโอกาสดีๆ ของบริษัท กรณีที่กล่าวในวาระสำคัญๆ จะทำให้งานฉุกละหุกผู้จัดงานหรือเจ้าภาพเสียหน้าอับอาย อย่าลืมว่าผู้จัดงานนี้ต้องการเกียรติจากเรา ที่เขาเชิญเราเขาคัดเลือกแล้วว่าเรามีเกียรติ เหมาะสมที่จะไปให้เกียรติในงานของเขา หากเจ้าภาพหาคนแทนเราไม่ได้ บรรดาท่านทั้งหลายก็ลองจินตนาการดูก็แล้วกันครับว่าจะเป็นอย่างไร และถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ต้องบ่อยหรอกครับ แค่ครั้งสองครั้ง ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของเราจะหมดทันที ภาวะผู้นำ ความสมาร์ท ความเท่ห์ ความสง่างาม ความมีเกียรติของเราจะหายไปจากเราอย่างฉับพลัน เราจะไม่ถูกเชิญอีกเขาจะมองข้ามเรา ถ้าเป็นงานในองค์กรเราก็ถูกดองเค็มครับ ทางผู้บริหารเขาก็อาจจะให้ลูกน้องเราไปทำหน้าที่ในการนำเสนอแทน ลูกน้องเราก็จะโดดเด่นมีความสมาร์ทขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายเขาก็จะมาแทนที่เรา

- ผู้บริหาร หรือหัวหน้างานบางคน เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมากเวลาประชุม หรือกล่าวต่อหน้ากลุ่มคนมากๆ มักจะมอบหมายงานให้ลูกน้องที่กล้าพูดกล้านำเสนอไปทำหน้าที่แทน โดยสอนงานให้ลูกน้องเข้าใจอย่างละเอียดถ่องแท้ทุกครั้งก่อนนำเสนอ หลายครั้งหากมีอะไรสงสัยลูกน้องก็จะเชิญเราไปให้ชักถามในที่ประชุม กรณีนี้ไม่ต้องสาธยายครับว่าจุดจบของเรื่องเป้นอย่างไร

- เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานบางคน รู้ว่าการพูดต่อที่ชุมชนมันสยองเพียงใด อาการประหม่าแบบเหงื่อแตก คอแห้ง มือสั่น ปวดท้อง หน้ามืด คิดอะไรไม่ออก ฯลฯ เป็นอย่าง ก็เลยหลีกเลี่ยงสุดชีวิตในการพูดที่ชุมชน มีพฤติกรรมชอบนั่งหลังสุดในห้องอบรม ชอบเป็นผู้ตามในกลุ่มสัมมนา-ฝึกอบรม เพราะไม่กล้าเป็นตัวแทนไปนำเสนอหน้าห้อง มักจะเกี่ยงหลีกเลี่ยงผลักภาระให้คนอื่นไปทำหน้าที่แทนทุกครั้ง ถ้ามีเหตุต้องเป็นตัวแทนนำเสนอ พวกนี้จะเลี่ยงการพูดตลอดเวลา ผลคือขาดภาวะผู้นำ ไร้ความสง่างาม จะถูกดองเค็มไม่มีโอกาสนั่งตำแหน่งหัวหน้าแน่นอน ถามง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนที่มีความสามารถเท่ากันสามคน (แม้อายุงานมากน้อยต่างกัน) เขาจะเลือกหัวหน้าหนึ่งคน ถ้าเป็นเรา แล้วเราจะเลือกใครครับ

- เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานบางคน ความสามารถปานกลางแต่ชอบเรียนรู้ ชอบแสดงออก ชอบเล่นกีฬา ชอบโชว์ ชอบพูดต่อหน้าคนมากๆ ชอบอาสาแทนเพื่อน ส่วนการพูดต่อที่ชุมชนแม้ว่าเขาจะชอบและเห็นความสำคัญ แต่ก็ยังกลัวเวทีกลัวว่าจะเกิดอาการประหม่าตื่นเต้นทำให้อับอาย ถึงจะอย่างไรเขาก็มีความพยายามที่จะฝึกเอาชนะอาการประหม่า และคิดว่าอายุยังน้อยถ้าเราลองผิดลองถูกต่อไปก็จะชินไปเอง อีกห้าปีสิบปีข้างหน้าเราคงเป็นมืออาชีพแล้ว และสมัยก่อนผมก็จัดอยุ่ในกลุ่มนี้ เพียงแต่อาการประหม่าจะหนักกว่ามาก เพราะมันเป็นชนิดร้ายแรงที่สุด และก็เป็นอาการประหม่าแบบมืออาชีพ พูดกี่ครั้งก็ไม่หายประหม่า (มีต่อตอน ๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น